ปลวก จัดเป็นแมลงสังคมชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในอันดับ Isoptera มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสลับซับซ้อน แบ่งออกเป็น 3 วรรณะ มีรูปร่างและหน้าที่ต่างกันชัดเจนคือ วรรณะปลวกงาน ทำหน้าที่หาอาหารและสร้างรัง วรรณะทหาร ป้องกันศัตรูที่เข้ามารบกวนประชากรในรัง และวรรณะสืบพันธุ์ ทำหน้าที่สืบพันธุ์วางไข่
ปลวก ! มาทำความรู้จักกับปลวก
ทั่วโลกมีปลวกแพร่กระจายอยู่มากกว่า 2,000 ชนิด ในประเทศไทย พบปลวกแพร่กระจายอยู่ทั่วทุกภาค ของประเทศ ประมาณ 200 ชนิด (39 สกุล) ประมาณ 10 ชนิด 9 สกุล เท่านั้นที่เข้าทำลาย อาคารบ้านเรือน
แม้ว่าปลวกบางชนิดจะเป็นศัตรูที่สามารถทำลายความเสียหายให้แก่ไม้ ต้นไม้ หรือผลิตผลที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบได้ แต่ในทางนิเวศวิทยาแล้ว ปลวกกว่า 80% จัดเป็นแมลงที่มีประโยชน์และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศป่าไม้มาก โดยปลวกจัดเป็นผู้ย่อยสลายในป่าธรรมชาติ ซึ่งทำหน้าที่ร่วมกันกับเชื้อราและแบคทีเรีย พบว่าประมาณ 3 ใน 4 ของขยะธรรมชาติ เช่น ซากพืช เศษไม้ ใบไม้ ท่อนไม้ หรือต้นไม้ที่หักล้มร่วงหล่นทับถมกันอยู่ในป่า ปลวกจะทำหน้าที่ ช่วยในการย่อยสลายให้ผุพังและเปลี่ยนแปลงไปเป็นฮิวมัสหรือินทรีย์วัตถุภายในดิน ก่อให้เกิดการหมุนเวียนอย่างรวดเร็วของธาตุอาหารในดิน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินในป่า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้
ในขบวนการย่อยสลายของปลวกจะอาศัยจุลินทรีย์พวกโปรโตซัว หรือแบคทีเรียที่อยู่ภายในกระเพาะส่วนหลังในการผลิตน้ำย่อย (enzyme) ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายสารพิษบางอย่างที่สลายตัวยากในสภาพแวดล้อมได้ นอกจากนี้ปลวกยังมีความสามารถใช้แบคทีเรียในกระเพาะจับธาตุไนโตรเจนจากอากาศมาสร้างเป็นกรดอะมิโนและสร้างโปรตีนให้ตัวมันเองได้อีกด้วย ปลวกจึงมีบทบาทเกี่ยวพันเป็นห่วงโซ่อาหารที่ซับซ้อนอยู่ในระบบนิเวศ และมีการถ่ายเทพลังงานกัน ก่อให้เกิดการเพิ่มผลผลิตของมวลชีวภาพ การทำลายหรือขุดรังปลวก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศของป่าธรรมชาติไปเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น พื้นที่เกษตรกรรม สวนป่า หรือพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ล้วนก่อให้เกิดความผิดปกติขึ้น ในขบวนการของระบบนิเวศ อัตราการย่อยสลายจะมีส่วนลดลง มีผลต่อปริมาณอินทรีย์วัตถุและปริมาณของธาตุอาหารในดินลดลง ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวมวลในระบบนิเวศที่ลำต่ำลงไป ดังนั้นปลวกจึงเป็นทรัพยากรแมลงที่มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ในฐานะเป็นตัวจักรสำคัญในการเป็นผู้ย่อยสลายในธรรมชาติ